มีคำคมในยุคสมัยหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ทำให้ชวนคิดกันมาโดยตลอดว่า ความสุขจากการทำงานนั้น หมายถึง “เงิน” อย่างเดียวเลยหรือ? แล้วถ้าเรา เจองานที่ใช่กับค่าตอบแทน รวมถึงองค์ประกอบของความสุขในชีวิตเราในด้านอื่น ๆ ควรจะถูกคำนึงถึงด้วยหรือไม่ และควรถูกคำนึงถึงมากน้อยเพียงไร?
เจองานที่ใช่กับค่าตอบแทน ที่ขัดแย้งกันจนต้องคิดหนักเลยทีเดียวทำไงดี
ถ้าจะพูดกันแบบตรง ๆ ไม่ใช่พวกโลกสวย คงต้องยอมรับว่าค่าตอบแทน หรือเงินค่าจ้าง นั้นสำคัญมากในการทำงาน ก็แน่ล่ะสิ เราทำงานเพื่อให้ได้เงินไม่ใช่ไปทำการกุศล ถึงจะได้เท่าไหร่ก็รับมาแบบไม่คิดอะไร แต่ความสุขที่ได้จากการทำงานในทุกวันก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อย เพราะเราคงไม่สามารถจะมีความสุขได้แค่วันเงินเดือนออกเพียงวันเดียว! แล้วเราจะพิจารณาจากอะไรเป็นสำคัญถ้าเจองานที่ใช่ แต่เงินไม่ไหวจะเคลียร์ หรือ งานที่ค่าตอบแทนสูงลิบลิ่ว แต่ต้องทนนั่งหน้านิ่วเพราะความเครียด ลองมาดูกันดีกว่า ถ้าเราเจอกับภาวะแบบนี้ จะตัดสินใจจากอะไรดี
1. ความจำเป็นของ “เงิน” ต่อการดำรงชีพของคุณ
ความชอบเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และมีแรงบันดาลใจในการมีชีวิตอยู่ แต่เงินก็ไม่ใช่ไม่จำเป็น ถ้าคุณไม่ได้เดือดร้อนอะไรในชีวิต บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ หนี้สินไม่มีให้ผ่อน แล้วจะคิดอะไรมาก งานที่ใช่ ทำให้คุณรู้คุณค่าของชีวิต ทำให้เรามีแรงตื่นขึ้นไปทำงาน ทำให้เราไม่กลัววันจันทร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย เลือกงานที่ใช่ไปเลยอย่าคิดมาก แต่ถ้าคุณมีภาระเยอะ ต้องรับผิดชอบชีวิตคนที่อยู่ข้างหลังหลายคน อาจต้องลองค่อย ๆ คิดทบทวน ว่างานที่ใช่จะสามารถ cover ในส่วนที่คุณต้องจ่ายได้หรือไม่ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ เงินก็ต้องมาก่อน ก็ต้องรับสภาพไป ความจนมันน่ากลัว
2. ระดับความชอบของคุณที่มีต่องานที่ได้รับข้อเสนอ
คำว่าใช่ ก็หมายถึงความชอบในปริมาณที่มากพอที่มีต่อสิ่งนั้น และก็ต้องชอบในเกือบทุกสิ่งอย่างด้วย แบบประมาณว่า โอ้ ช่างคลิกเหลือเกิน คิดง่าย ๆ งานก็เหมือนแฟน เวลาที่เราเจอคนที่ใช่ เราจะรู้สึกได้ทันที งานก็เช่นกัน ถ้าเรารู้สึกได้ถึงเคมีกับงานไหนเป็นพิเศษ ก็อย่ารอช้า ถึงค่าตอบแทนอาจน้อยกว่าที่ต้องการไปเสียหน่อย แต่ถ้าเราได้ทำงานที่ใช่ เรามักจะทำได้ดี แล้วพอเราทำได้ดี ความก้าวหน้าจะมาหาเราทันที ดีกว่าไปเลือกงานที่เงินเยอะแต่เราไม่มี passion ด้วย ทำไปวัน ๆ เช้าชามเย็นชาม สุดท้ายก็คงไม่ก้าวหน้าไปไหน ช่วงแรกได้เยอะ แต่ไม่ขยับขึ้นอีกเลยก็ไม่ไหวนะยู เราต้องคิดถึงอนาคตด้วย
3. ความก้าวหน้าในอนาคต
ความก้าวหน้าในการทำงาน เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับต้น ๆ ของการเลือกงานไม่แพ้ความชอบ และค่าตอบแทน ถ้างานที่เราชอบ เงินไม่น้อยจนน่าเกลียด อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และประเมินดูว่ามีอนาคต แนะนำว่าให้เลือกงานที่ใช่ก่อนค่าตอบแทนที่มากกว่าในช่วงแรก เพราะถ้าคุณได้ทำงานที่ใช่ ความเจ๋งในตัวคุณจะส่องประกายออกมาเอง ในเวลาไม่นาน คุณจะได้รับโอกาส และค่าตอบแทนที่มากขึ้นแน่นอน ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วทุกอย่างจะดีเอง
4. ต่อรองเพิ่มเติม
ถ้ารู้สึกว่าเจองานที่ใช่จริง ๆ แต่ติดที่เรทค่าตอบแทน ลองเจรจาต่อรองอีกสักตั้งกับทางต้นสังกัดก็ไม่เสียหาย แต่ก็อย่าต่อรองในเรทที่เกินจริงมากไป จนองค์กรรู้สึกว่าคุณกำลังโก่งค่าตัว วิธีที่ดูโอเคอีกวิธีก็ยกตัวอย่างเช่น คุณจะขอพิสูจน์ฝีมือและความสามารถในตำแหน่งนี้ในระยะทดลองงาน ถ้าหากว่าผลงานเข้าตากรรมการแล้วจะขอขยับขึ้นอีกก็ว่ากันไปให้เหมาะสมกับผลงาน
5. ขอรับเป็น freelance
ถ้าชอบมาก แต่เงินไม่สู้จริง ๆ แล้วทางนายจ้างก็ชอบคุณ ลองหาทางออกอื่น ๆ ร่วมกันอีก เผื่อจะมีความเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์เป็นจ็อบ ๆ ไป แล้วคุณก็เอาเวลาที่เหลือไปหางานเพิ่มอีก เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่คุณคิดว่าจะสามารถดำรงชีพได้แบบไม่ลำบาก และยังได้มีโอกาสทำงานที่ใช่ไปในคราวเดียวกันอีกด้วย แต่วิธีการนี้ไม่ได้ใช้ได้กับทุกบริษัท อาจจะต้องลองลุ้น ลองคุยกันเป็นกรณี ๆ ไป เพราะส่วนใหญ่องค์กรจะอยากได้คนที่สามารถให้เวลางานกับองค์กรได้อย่างเต็มอัตรามากกว่าที่จะจ้างเป็นลักษณะฟรีแลนซ์ เว้นแต่ว่างานนั้น ๆ สามารถทำได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลองคุยดูก่อนก็ไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว อย่าไปกลัว
6. ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สุดท้าย ถ้าเลือกไม่ได้จริง ๆ ระหว่างแค่ 2 หัวข้อ อันได้แก่ ความชอบ และเงิน ก็ขอให้พิจารณาถึงปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น วัฒนธรรมองค์กร ทีมงาน และหรือระยะทางระหว่างที่พักถึงอาคารที่ทำงาน ฯลฯ บ่อยครั้ง ปัจจัยอื่น ๆ ก็ส่งผลกระทบต่อความชอบของเราที่มีต่อตัวงานนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น งานนี้ชอบมาก แม้ค่าตอบแทนน้อยก็พอไหว แต่พิจารณาอีกนิด โอ๊ยตายแล้ว บ้านเราอยู่ฝั่งธน แต่ต้องไปทำงานที่รามอินทรา จะไหวมั้ย ถามใจตัวเองดู เป็นต้น